นิทรรศการ “Adaptation ทั้งจำ ทั้งปรับ” โดย noble PLAY ร่วมกับ “วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์”

จากเศษวัสดุสู่งานศิลปะและการปรับเปลี่ยนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

noble PLAY พื้นที่สร้างสรรค์ใจกลางเพลินจิต ร่วมกับศิลปินผู้ท้าทายกรอบความคิดด้วยการเปลี่ยนเศษวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่า “วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์" กลับมาพร้อมกับผลงานล่าสุดในนิทรรศการ “Adaptation: ทั้งจำ ทั้งปรับ" จัดแสดงขึ้นที่ noble PLAY ระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2567 – 26 มกราคม 2568 

“นิทรรศการ “Adaptation ทั้งจำ ทั้งปรับ" โดย วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ คือ บทสนทนาเชิงศิลป์ที่ถักทอขึ้นจากเศษเสี้ยวของเมืองที่กำลังเติบโต แต่ละผลงานคือร่องรอยแห่งการเปลี่ยนแปลง รอยแผลเป็นที่ธรรมชาติได้รับจากการขยายตัวของเมือง สะท้อนให้เห็นถึงการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทว่าในความเสียหายนั้น ศิลปินได้ชุบชีวิตเศษซากเหล่านี้ให้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง สื่อถึงการ “จำ" ความผิดพลาดในอดีต เพื่อที่จะ “ปรับ" เปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่หนทางแห่งความยั่งยืน"

noble PLAY และ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ มีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านนิทรรศการครั้งนี้ โดยเป็นการการรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้จากการก่อสร้างที่ถูกมองข้ามมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะซึ่งท้าทายกรอบความคิดเดิม ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า “สิ่งของไร้ค่าที่ทุกคนมองข้าม” พร้อมกับกระตุ้นให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และเมือง 

นิทรรศการนี้จะพาทุกคนออกเดินทางไปสำรวจความหมายของการปรับตัวและการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสาร ทำให้ผู้ชมได้ใคร่ครวญถึงบทบาทของตนเองในสังคมและสิ่งแวดล้อม  

ศิลปินได้สร้างสรรค์พื้นที่แห่งการตั้งคำถามและการค้นพบเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนจดจำบทเรียนจากอดีตและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

 

ในนิทรรศการ “Adaptation ทั้งจำ ทั้งปรับ" คุณจะได้พบกับ … 

“ต้นไม้จำแลง" (Three-Tree Transformation)

ศิลปะจัดวาง (Installation Art) ที่นำเศษวัสดุจากงานก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้น ท่อ อิฐ กระเบื้อง และ ปูน มาชุบชีวิตขึ้นใหม่ให้กลายเป็น “ต้นไม้จำแลง" ที่สามารถแปลงกายได้ 3 ร่าง ใน 3 เทศกาล คือ ฮาโลวีน คริสต์มาส และตรุษจีน

ชิ้นงานศิลปะเชิงสัญลักษณ์จากร่องรอยการก่อร่างสร้างเมือง สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัว การเรียนรู้ และการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ของทั้งศิลปินและสังคมเชิญชวนให้ผู้ชมออกเดิน ทางสำรวจและตั้งคำถามถึงแก่นแท้ของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งยังสร้างพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ และการแลกเปลี่ยนความคิด กระตุ้นให้ทุกคนปรับตัวเปิดใจรับความแตกต่าง 

“ป่าคอนกรีต ผลิใบ"

ก้าวย่างเข้าสู่ดินแดนในจินตนาการที่ซึ่งซากเศษวัสดุเหลือทิ้งของโครงสร้างอันแข็งแกร่ง กลายมาเป็นต้นไม้ที่แผ่ขยายกิ่งก้านสาขา เติบโตเป็นลำต้นมั่นคง และแตกหน่อกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณ

ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก และไวนิลหลากสีสันนำมาถักทอเป็นใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ สร้างตื่นตาตื่นใจ

กล่องที่พันด้วยไวนิลเป็นเครื่องเตือนใจถึงผลกระทบจากการบริโภคและสัญลักษณ์ของความหวัง เมื่อสิ่งของไร้ค่าหมดประโยชน์ถูกเปลี่ยนให้เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะที่มีคุณค่า “ป่าคอนกรีต ผลิใบ" เชื่อมโยงมนุษย์ 

สิ่งแวดล้อม และเมืองเข้าด้วยกัน ม้านั่งที่วางไว้รอบ ๆ เชื้อเชิญให้ผู้ชมได้หยุดพัก พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างชุมชนเล็ก ๆ ที่เติบโตเคียงข้างต้นไม้เหล่านี้ในโลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผลงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทั้งมนุษย์และธรรมชาติ เป็นเครื่องเตือนใจให้ตระหนักถึงผล กระทบจากการบริโภคและเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

Finale: อวสาน … สู่การเริ่มต้นใหม่" 

บทสุดท้ายของการเดินทาง การเปิดประตูสู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ที่ซึ่งแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ และกระบวนการทำงานของศิลปินได้หลอมรวมกัน เป็นตัวอย่างของการปรับตัวของทั้งมนุษย์และธรรมชาติ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

การเดินทางครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และการค้นพบที่จะจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และความตระหนักรู้ว่า … โลกใบนี้มีเพียงหนึ่งเดียวและทรัพยากรมีอย่างจำกัด การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืนคือการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสสร้างสรรค์และเติบโตต่อไป

“SUSTAINABLE MAP: Map of Bangkok, Thailand"

เดินทางสำรวจกรุงเทพฯ ผ่านสายตาศิลปินที่ผสานความงามและความยั่งยืนเข้าไว้ด้วยกัน

จากเศษวัสดุก่อสร้างและวัสดุเหลือใช้กว่า 300 กิโลกรัม ร้อยเรียงเรื่องราวของสถานที่สำคัญ 179 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ร้านอาหารชื่อดัง คาเฟ่สุดฮิต พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงสถานที่ทางศาสนา และแลนด์มาร์กที่ไม่ควรพลาด

เพียงสแกน QR CODE ผู้ชมสามารถค้นพบสถานที่น่าสนใจใกล้เคียง สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แตกต่าง พร้อมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและเผยแพร่สถานที่ท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

ผลงานนี้เป็นการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ เปลี่ยนเศษวัสดุที่ไร้ค่าให้กลายเป็นผลงานศิลปะ เชื่อมโยงการหมุนเวียนขยะสู่การสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงพลังแห่งการสร้างสรรค์และความสำคัญของการปรับตัว เป็นเครื่องเตือนใจให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการบริโภค และเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

Share on

Published 17th October 2024
×